Saturday, July 28, 2018

ฝ้ายงามครามมุก...อัตลักษณ์ผ้าฝ้ายทอมือมุกดาหาร

ดร. ร.ต.อ. อนุชา แพ่งเกษร  อาจารย์จากคณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ร่วมกันจัดเวทีเพื่อกำหนดอัตลักษณ์ผ้าฝ้ายทอมือของจังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ณ วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร



วัตถุประสงค์สำคัญของการดำเนินการในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ได้ดำเนินการโครงการจัดการความรู้ผ้าทอมือมุกดาหารมาระยะเวลาหลายปีแล้ว สิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เป็นการค้นหาภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผ้าทอต่างๆ เช่น ชนิดฝ่ายที่ใช้ ลายที่ทอในผืนผ้า บุคคลที่มีความชำนาญ(ภูมิปัญญา) เป็นต้น จนกระทั่งพบว่า ผ้าทอมือในจังหวัดมุกดาหาร มีการทำในหลายหมู่บ้าน มีความหลากหลายทั้งประเภท ลาย รูปแบบการทอ ทักษะความสามารถของคนทอ ทั้งหมดกระจายอยู่ในทุกชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร แต่ประเด็นสำคัญคือ ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ผ้ามือเมื่อมุกดาหาร เอกลักษณ์คืออะไร ทั้งผู้ผลิตก็ทำตามที่ตนเคยทำมาด้วยความชำนาญ หรือการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษของตนเอง ผู้ใช้ก็ยังไม่มีคำตอบว่า ถ้าต้องการผ้าทอมือมุกที่ดีมีคุณค่า มีมาตรฐาน และเป็นเอกลักษณ์ที่บ่องบอกถึงจังหวัดมุกดาหาร คือผ้าอะไร ซื้อได้จากที่ไหน จึงเป็นที่มาของการหาคำตอบโดยวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร โดยหาเรียนเชิญอาจารย์อนุชา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ครั้งหนึ่งอาจารย์ได้มาร่วมกับวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร เรื่องผ้าย้อมคราม ในพื้นที่ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง เมื่อหลายปีมาแล้ว


กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมเวทีในวันนี้ ประกอด้วย กลุ่มผ้าย้อมคราม คุณยายเขียว จาก บ้านเหล่าคราม กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือบ้านคำนางโอก ตำบลร่มเกล้า เป็นกลุ่มที่วิทยาลัยชุมชน ดำเนินการโครงการจัดการความรู้ผ้าฝายทอมือ มีลายที่เป็นเอกลักษณ์ ชื่อลายดอกสา จนเป็นที่รู้จักของชุมชน ในช่วงปีงบประมาณ 2560-2561 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผ้าทอมือบ้านโพนไฮ ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง กลุ่มครามบุญ (KRAMBOON) 


กระบวนการที่ใช้ เป็น FLATEFORM ที่อาจารย์อนุชาได้แนำนำและนำมาใช้เพื่อการกำหนด ริเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ SWOT ของตัวผลิตภัณฑ์ (ผ้า) ในมิติของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการศึกษาถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการศึกษา โดยกลุ่มที่ทำกิจกรรมจะร่วมกันวิเคราะห์ด้วยกัน โดยมี MODERATOR ทำหน้าที่กระตุ้น /ซักถาม เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในทุกๆมิติ 

ขั้นตอนต่อไป เป็นการนำจุดแข็ง/โอกาส และจุดออน/อุปสรรค มา plot ลงใน template ที่จะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็น จุดแข็งและ โอกาส โดยจำแนกออกเป็น 3 มิติ คือ มิติด้านเศรษกิจ ด้านสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม อีกส่วนหนึงคือผลการวิเคราะห์ั้เป็นจุดอ่อน และอุปสรรค โดยจำแนกเป็น 3 มิติเช่นเดิม โดยกำหนดในแต่ละมิติที่ตรงกัน (ดังรูป) นำมาเปรียบเทียบหรือวิเคราะห์ร่วมกันในเวทีใหญ่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และมองภาพใหญ่ร่วมกัน หลักการของนักออกแบบ จะให้ความสำคัญกับจุดอ่อน/อุปสรรคของผลิตภัณฑ์ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา โดยเฉพาะประเด็นของ "อัตลักษณ์" (IDENTITY)


คำถามที่สำคัญสำหรับในการสอเคราะห์ร่วมกันในเวทีใหญ่ แต่ละกลุ่มต้องมีข้อสรุปให้ชัดเจนว่า อัตลักษณ์ของตนเองคืออะไร อาจกำหนดเพียงสามคำหรือประโยคใดที่มีความชัดเจน และสะท้อนให้เห็นถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างแท้จริง ตัวอย่างจาการจัดเวทีในครั้งนี้ เวทีร่วมกันสรุปผ้าทอมือของจังหวัดมุกดาหาร ออกมาเป็น "ฝ้ายงามครามมุก" โดยมีความหมายที่จะต้องดำเนินการสร้างความเข้้าใจร่วมกันคือ "ฝ้าย" "งาม" "คราม" และ "มุก" คืออะไร 

ขั้นตอนต่อไปนี้ การสร้างความเข้าร่วมในทุกภาคส่วนถึงอัตลักษณ์ ที่จะร่วมกันสร้างต่อไปอย่างเนื่องด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
           





  



Friday, July 27, 2018

พัฒนาทักษะครูและทักษะการเรียนรู้นักเรียนประถมศึกษาโดยใช้บทเรียนบทออนไลน์


ความนำ
 สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน ได้มุ่งทิศทางในการพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเฉพาะนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้านอุดมศึกษา ที่มุ่งเน้นความสำคัญของการส่งเสริมบทบาทให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาในท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาท้องถิ่น ฉะนั้น การจะขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวเพื่อผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมจากปัจจุบันสู่อนาคต ทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างเป็นระบบและเดินหน้าการพัฒนาไปสู่เป้าหมายในการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของแต่ละท้องถิ่น ทั่วประเทศให้เกิดการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
การดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้สถาบันอุดมศึกษานำนวัตกรรมทางการศึกษา ทรัพยากร ตลอดจนความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาการของบุคลากร และเทคโนโลยีจากสถาบันอุดมศึกษาไปช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษา          ให้กับโรงเรียนที่เปิดสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพครูในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งแก้ปัญหาการศึกษาของชาติ ทั้งการอ่านออกเขียนได้ การยกระดับความรู้ภาษาอังกฤษ การจัดการเรียนการสอนสะเต็มในสถานศึกษา การคืนครูสู่ห้องเรียน เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะชีวิตและการทำงาน ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม และทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 โดยใช้รูปแบบกิจกรรม การจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย อาทิเช่น การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ รูปแบบการจัดการเรียน     การสอนสะเต็มในสถานศึกษา การเรียนรู้แบบ Problem-Based Learning (PBL) การจัดการเรียนรู้แบบชุมชนการเรียนรู้ (Professional Learning Communities : PLC) เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับโลก (Global Awareness) ความรู้เกี่ยวกับการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ (Financial, Economics, Business and Entrepreneurial Literacy) ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองที่ดี (Civic Literacy) ความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy) ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ต่อไปในอนาคต จากเหตุผลและความสำคัญดังกล่าวเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค 9 เครือข่าย เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ให้บรรลุผลในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จนเกิดผลการพัฒนาการศึกษา   ขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาและเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีในอนาคต

วัตถุประสงค์โครงการ

 1. ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของโรงเรียนในท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง โดยการบูรณาการการขับเคลื่อนองค์ความรู้ วิชาการ และความเชี่ยวชาญต่าง ๆ จากสถาบันอุดมศึกษานำไปสู่การปฏิบัติจริงในโรงเรียน เพื่อการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เกิดคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติให้มีคุณภาพ 
2. สร้างความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค 9 เครือข่าย และศึกษาธิการจังหวัด ในการดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะที่เหมาะสม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ  

วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ในฐานะสถาบันอุดมศึกษา สมาชิกเครือข่ายอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้เสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ประจำปีงบประมาณ 2561 โครงการพัฒนาทักษะครูและพัฒนาทักษะการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนออนไลน์ โดยมีโรงเรียนประถมศึกษา เข้าร่วมโครงการ จำนวน 20 โรงเรียน ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร รวม ๖ อำเภอ (ยกเว้นอำเภอดอนตาล) 


















Thursday, February 1, 2018

วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ในบทบาท "หน่วยจัดการร่วมกับ สสส." ของจังหวัดมุกดาหาร

วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร มีความพยายามที่จะเป็นองค์กรเพื่อการส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคมและองค์กรประชาชน เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินงานของวิทยาลัยชุมชน คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อการจัดการตนเองอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้สำหรับประชาชน(จังหวัดมุกดาหาร)ในทุกกลุ่มวัย

ด้วยภาคีกิจดังกล่าว จึงได้เสนอตัวเพื่อเป็นภาคีการพัฒนาร่วมกับ สสส. ในฐานะ "หน่วยจัดการร่วม"(NODE)" และในที่สุดวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ได้รับคัดเลือกเพื่อดำเนินการกิจกรรมร่วมกับ สสส. ในปี ๒๕๖๑ ในฐานะหน่วยจัดการร่วม เพื่อดำเนินการโครงการขนาดเล็ก ภายใต้โครงการ มีภารกิจที่ต้องดำเนินการ ประกอบด้วย
(๑) การค้นหาภาคีรายย่อยเพื่อขยายแนวร่วมการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ เป็นภารกิจเป็นการหาวิธีการค้นหาภาคีรายย่อย มีวิธีการหาช่องทาง การสื่อสารประชาสัมพันธ์ การกำหนดเกณฑ์คัดเลือกโครงการ
(๒) การพัฒนาข้อเสนอโครงการ ซึ่งหมายถึงกระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกับภาคีรายย่อยโดยละเอียดว่ามีกระบวนการอย่างไร ใช้เครื่องมือในการพัฒนา บทบาทของหน่วยจัดการหรือพี่เลี้ยงมีวิธีการคิดหรือเก็บข้อมูล
(๓) การพัฒนาศักยภาพภาคีที่ได้รับทุนให้สามารถบริหารจัดการโครงการและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดำเนินการกำหนดวิธีการหรือกระบวนการพัฒนาศักยภาพผู้รับทุน รวมทั้งผลที่เกิดจากการพัฒนาที่ได้รับจากหน่วยจัดการ เช่น เวทีปฐมนิเทศโครงการ เวทีติดตามความก้าวหน้าผลลัพธ์โครงการ การหนุนเสริมต่างๆ
(๔) การติดตามหนุนเสริมการดำเนินงานโครงการ
(๕) การถอดบทเรียนการดำเนินงาน
(๖) การประชุมคณะทำงาน



Thursday, January 11, 2018

วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร กับบทบาทการเป็นหน่วยจัดการย่อยร่วมกับ สสส. ในระดับพื้นที่ (NODE)

วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร สถาบันอุดมศึกษาเพื่อชุมชน ได้มีความพยายามที่จะดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของสถาบันการศึกษา ที่ทำหน้าที่ใกล้ชิดกับชุมชนให้มากที่สุด เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน กระกระบวนการการทำหน้าที่ ประสาน เชื่อมโยงให้เกิดการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนไปสู่ชุมชน

การทำหน้าที่เป็น "หน่วยจัดการร่วม สสส.จังหวัดมุกดาหาร" ของวิทยาลัยุมชนมุกดาหาร ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ สสส. กำหนด จากการประกาศรับสมัครการสนับสนุนทุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็กของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สำนักกอลทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงาน/องค์กรของชุมชนต่างๆ ได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อดำเนินการ ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก จำนวน ๓๐ พื้นที่ กิจกรรม ๖ เมนู ได้แก่

    (๑) โครงการลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญ งานประเพณี (จุดเน้น เพื่อให้ชุมชนเกิดข้อตกลงร่วมในการกำหนดประเภทงานบุญ งานประเพณีปลอดแอลกอฮอล์)
    (๒) โครงการ การจัดการขยะ (จุดเน้น ครัวเรือนมีการคัดแยกขยะและใช้ประโยชน์จากขยะ)
    (๓) โครงการส่งเสริมการบริโภค ผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียน (จุดเน้น แม่ครัวมีการปรับพฤติกรรมโดยการปรุงอาหารกลางวันตามรายการที่มีการกำหนดไว้ทุกมื้อ)
    (๔) โครงการ การผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีในครัวเรือน (จุดเน้น ครัวเรือนมรการปลูกผักเพื่อบริโภคโดยไม่ใช้สารเคมี)
   (๕) โครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน (จุดเน้น การสนับสนุนให้ชมรมผู้สูงอายุในระดับหมู่บ้านหรือชุมชนมีศักยภาพและคามเข้มแข็ง ในการเป็นกลไกสำคัญที่มีบทบาทสนัสนุนการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุ)
   (๖) โครงการ การจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชน (จุดเน้น กระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขจุดเสี่ยงของสมาชิกในชุมชน และปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมในการแก้ไขจุดเสี่ยงและพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับจุดเสี่ยงที่ชุมชนจะแก้ไข)

วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ทำหน้าที่ NODE โดยบทบาทที่ำคัญ คือ การเชิญชนพื้นที่ต่างๆเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจาก สสส. การกำกับดูแล สนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการ การติดตาม รายงานผลการดำเนินงาน หรือกล่าว่า ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนในทุกขั้นตอนของการดำเนินงานโครงการขนาดเล็ก ที่จะขอรับการสนัสนุนจาก สสส. ตามแนวทางที่ สสส. กำหนด ตลอดจนกรพัฒนาศักยภาพพื้นที่ที่เข้าร่มโครงการ การสร้างทีมและเครือข่ายการทำงานของภาคีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจังหวัดมุกดาหาร ที่พื้นที่/ชุมชนต่างๆ ที่ได้ขอรับทุนจาก สสส. มีจำนวน ๓๐ พื้นที่ ในทุกอำเภอ และทุกเมนู

บทาทที่สำคัญ ในฐานะ NODE ที่วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ต้องดำเนินการ คือ
    (๑) การค้นหาภาคีรายย่อยขยายแนวร่วมการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ
    (๒) การพัฒนาข้อเสนอโครงการ
    (๓) การพัฒนาศักยภาพภาคีที่ได้รับทุนให้สามารถบริหารจัดการโครงการและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้
    (๔) การติดตามหนุนเสริมการดำเนินงานโครงการ
    (๕) การถอดบทเรียนการดำเนินงาน
    (๖) การประชุมคณะทำงาน

ในช่วงวันที่ ๑๐-๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ในฐานะ NODE จังหวัดมุกดาหาร ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการแต่ละโครงการ ทั้ง ๓๐ พื้นที่ ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญ คือ การออกแบบเก็บข้อมูลตัวชี้วัด การสะท้องผลลัพธ์โครงการ ทั้ง ๓๐ พื้นที่ โดยได้เชิญคณะทำงาน/ตัวแทนแต่ละพื้นที่ เข้ามาร่วมนำเสนอ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เป็นเวลา ๒ วัน

การออกแบบวงสะท้อนผลลัพธ์ ที่ได้ดำเนินการ มุ่งหวังที่จะให้มีการสังเคราะห์ผลลัพธ์โดยเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงก่อน-หลัง แล้ว มีการคืนข้อมูลเป็นระยะๆหรือการจัดประชุมเพื่อสะท้อนผลลัพธ์เพื่อให้รู้ว่าควรจะปรับแผนหรือเดินหน้าอย่างไร ดังนั้น การดำเนินการในครั้งนี้ มีหลักการที่ดำเนินการ คือ
(๑) คุยเรื่องผลลัพธ์เป็นหลัก
(๒) ใช้ข้อมูลยืนยัน
(๓) ทำอย่างมีส่วนร่วม
(๔) ทำให้เป็นการเรียนรู้
(๕) ทำหลายรอบ

การดำเนินงานโครงการ ข้อมูลสำคัญ ประกอบด้วย
(๑) กิจกรรมตามโครงการ
(๒) ผลลัพธ์
(๓) ตัวชี้วัด
ทั้งสามอย่าง เป็นกรอบการดำเนินงานที่มีความสัมพันธ์กันและกำหนดไว้อย่างชัดเจน สามารถเป็นกรอบการดำเนินงานได้อย่างสะดวก ทั้งคณะทำงาน และใช้ในการติดตาม รายงานผลการดำเนินงาน

บทาทของหน่วยจัดการ "การสะท้องผล"(วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร) เป็นการสะท้องผลระดับโครงการย่อย และระดับหน่วยจัดการ ซึ่งต้องเตรียมการดังนี้
(๑) ศึกษาผลลัพธ์ที่ต้องการจาก "บันไดผลลัพธ์"
(๒) เตรียมทีม/ประเมินความเข้าใจของทีม
(๓) ซักซ้อม/ทำความเข้าใจโจทย์ผลลัพธ์
(๔) วางแผนลงพื้นที่ (แผนเก็บข้อมูล)
(๕) ติดตาม/ให้คำปรึกษา
(๖) สรุปบทเรียน

ในช่วงเวลา ๒ วันของการจัดเวทีแลกเปลี่ยนรู้พื้นที่ต่างๆที่ดำเนินการโครงการย่อย พบประเด็นที่น่าสนใจในการดำเนินงานโครงการ ...
(๑) แกนนำที่มีความสามารถในการนำเสนอ/มีจิตอาสา/แนวคิดใหม่ในการพัฒนา
(๒) รูปแบบการดำเนินการที่หลากหลาย(นอกเหนือจากการกำหนดไว้ในโครงการ)
(๓) เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่เฉพาะประเด็นของโครงการย่อย มีประเด็นที่เป็นความสนใจร่วม
(๔) เกิดกิจกรรมการขยายผลมากกว่าที่กำหนดไว้ใน "ันได้ผลลัพธ์" ตัวอย่างรูป การขยายผลสู่การสร้างรายได้ที่มากขึ้น การขยายเครือข่ายการดำเนินงานในระดับชุมชน เป็นต้น
(๕) การปรับทิศทางการขยายผลในอนาคต
(๖) มีต้นแบบการพัฒนาที่สามารถเป็นตัวอย่าง/ข้อสรุปในการดำเนินกิจกรรมการขยายผลในอนาคต

วิทยาลัยชุมชน ในฐานะ NODE ที่ได้ทำหน้าที่ตามบทบาท และข้อมูลที่เกิดจากเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ก่อให้แนวคิดในอนาคต ได้หลายประการ ได้แก่
(๑) การพัฒนาและการขยายเครือข่ายในแต่ละประเด็น ให้กว้างมากขึ้น ในการลักษระของการทำงานเชิงบูรณาการในอนาคต
(๒) การสร้างความยั่งยืนของแต่ละเมนู จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายการดำเนินงานในแต่ละประเด็น
(๓) การเปิดเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนที่มีความหลากหลายมากขึ้น

การทำหน้าที่ของวิทยาลัยชุมชนในฐานะสถาบันการศึกษาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ภายใต้การเป็นหน่วยจัดการร่วม สสส.จังหวัดมุกดาหาร สะท้องบทบาทที่เป็นจริงของการเป็น "แหล่งวิชการเพื่อชุมชน" ที่ประโยชน์โดยตรงต่อชุมชน

Tuesday, January 9, 2018

เส็งกลองจิ่ง...วิถีพื้นบ้าน ที่ควรค่าแก่การสืบทอดและเรียนรู้

"กลองจิ่ง"


"กลอง" เป็นวัฒนธรรมของชุมชนพื้นบ้าน ที่ใช้ในหลายวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่ที่เห็นชัดเจนและเข้าใจกันโดยทั่วไป คือ กลองเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ตีแล้วให้เสียงดัง และเป็นการนำเสียงของกลองมาใช้เพื่อประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันของชุมชน จึงได้พบว่า กลองได้ถูกใช้เป็นสัญญาณบอกเหตุส่งข่าวเวลามีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ตีสั้นตียาวเหมือนสัญญาณนกหวีดหรือสัญญาณควัน การแข่งจะแข่งความดังและส่งสัญญาณได้ดีกว่า ภาคอีสานเรียกว่าการเส็งกลอง (ข้อมูลเพิ่มเติมอิื่นๆ) 

การเส็งกลองจิ่ง เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านของประชาชนในจังหวัดมุกดาหารในหลายพื้นที่ เกือบทุกอำเภอ ที่มีการถือปฏิบัติมาอย่างยาวนาน จนถือไ้ว่าเป็นวิถีวัฒนธรรมชุมชน สำหรับกลองกิ่ง หรือกลองจิ่ง ตามคำบอกเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา แหล่งกำเนิดเริ่มต้นเดิมนั้น เกิดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ เมืองอัตปือ เมืองพวน เมืองสาละวัน สำหรับจังหวัดมุกดาหาร มีราษฎรส่วนใหญ่ในอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เป็นชาวไทย เผ่ากะเลิง ซึ่งได้อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยมีราชบุตรโคตร นำพาราษฎรมาตั้งถิ่นฐานชื่อว่า หัวดอนตาล (เกาะดอนตาล) และปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และตั้งชื่อชุมชนว่า บ้านหัวดอนตาล ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น บ้านดอนตาล วัฒนธรรมการแข่งขันกลองกิ่ง จึงได้นำมาแพร่หลายในอำเภอดอนตาล (ตามคำบอกเล่าของนายเฮือง จันทพันธ์ อายุ 85 ปี ให้ข้อมูลเมื่อปี 2550)
ในปี ๒๕๖๑ วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ได้ดำเนินการโครงการจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ภายใต้้กิจกรรม "สืบสานวัฒนธรรมชนเผ่า" โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การเผยแพร่และสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของภูมิปัญญาของชุมชน ผ่านการจัดการแข่งขันกลองจิ่งขึ้นในงานกาชาดและงานของดีจังหวัดมุกดาหาร ประจำปี ๒๕๖๑ โดยมีคุณตาสุริจิตต์  จันทรสาขา ประธานสภาวัฒนธรรมของจังหวัดมุกดาหาร ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ...
ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร ได้ให้ข้อมูลถึงความเป็นมาของ "กลอง" ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชุมชน และความเป็นมาของการเส็งกลองในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีหลักการสำคัญของการแข่งขัน คือ ความดังของเสียงกลอง(ความนุ่มนวล จังหวะการตี) การแต่งกาย ท่าท่างประกอบการตี เป็นต้น) และประการสำคัญคือ การเส็งกลองจิ่งของจังหวัดมุกดาหาร มีเพียงจังหวัดเดียวที่มีการแข่งขันจนถึงปัจจุบันนี้ ถือได้ว่า เป็นวิถีวัฒนธรรมที่ยังคงมีการสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ จังหวัดโดยสภาวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร ได้เสนอให้กิจกรรมการ "เส็งกลองจิ่ง" เป็น "มรดกทางวัฒนธรรม" ของจังหวัดมุกดาหาร     


จาการดำเนินงานตามโครงการจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนของวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร การศึกษาบริบทของชุมชนก่อนการดำเนินงานโครงการในแต่ละปี และที่ผ่านมาทำให้ได้พบว่า ในหลายพื้นที่ มีประเพณีที่เรียกกันว่า "เส็งกลอง" โดยเฉพาะ "กลองจิ่ง" มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นประเพณีของชุมชน มีเอกลักษณ์ มีคุณค่าทางสังคม จากข้อมูลดังกล่าว บุคลากรขอ
ิวทยาลัยชุมชนผูรับผิดชอบโครงการ (อ.มยุรา  คำปาน) จึงได้จัดให้มีการศึกษา ถอดบทเรียน ในพื้นที่ต่างๆหลายพื้นที่ เพื่อเป็นการรวบรวม จัดระบบ พัฒนา เผยแพร่ และจะนำไปสู่การถ่ายทอดภูมิปัญญาเหล่านี้แก่คนทั่วไปต่อไป ซึ่งหมายถึงกระบวนการ "จัดการความรู้" ของชุมชน ผ่านกิจกรรมการจัดแข่งขันการเส็งกลองจิ่งในงานกาชาดและงานของดีของจังหวัดมุกดาหาร ในปี ๒๕๖๑

ในการจัดกิจกรรมการแข่งขันเส็งกลองจิ่งในครั้งนี้ มีหมู่บ้านที่เข้าร่วม รวมจำนวน ๗ ทีม ได้แก่
(๑) บ้านห้วยลำโมง ตำบลคำบก อำเภอคำชะอี
(๒) ตำบลบ้านซ่ง อำเภอคำชะอี (จำนวน ๔ หมู่บ้าน
(๓) บ้านนาม่วง ตำบลดอนตาล อำเภอดอนตาล
(๔) บ้านนาโสก ตำบลนาโสก อำเภอเมือง

การจัดการแข่งขันก็ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ชุมชนเคยปฏิบัติกันมา เช่น เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน รูปแบบการแข่งขัน โดยกรรมการการแข่งขันประกอบด้วย คุณตาสุรจิตต์  จันทรสาขา ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร ตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมแข่งขัน และอาจารย์จากวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร

ผลจกาการแข่งขัน เป็นข้อค้นพบประการหนึ่งพบว่า
(๑) กลองจิ่ง เป็นทุนทางวัฒนธรรมของชนเผ่าจังหวัดมุกดาหาร ที่ไม่จำเพาะว่าเป็นชนเผ่าใดชนเผ่าหนึ่ง แต่เป็นวัฒนธรรมหรือทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในทุกชนเผ่าที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดมุกดาหารตั้งแต่อดีต
(๒) การเส็งกลองจิ่ง เป็นการแข่งขันของชุมชน เพื่อสะท้อนถึงการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนในชุมชน
(๓) การเส็งกลอง เพื่อต้องการแสดงศักยภาพของคนในชุมชนของตนเอง
(๔) การเส็งกลอง มีการถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง (ผู้เข้าแข่งขัน ส่วนหนึ่งเป๋นเยาวชนในชุมชน)
(๕) แกนนำชุมชนเป็นตัวแบบให้แก่คนรุ่นหลังได้ในการสืบสานวัฒนธรรม
(๖) หน่วยงาน/องค์กรส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสร้างเวทีการแสดงให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องและบ่อยครั้ง
(๗) ควรมีการยกย่องเชิดชูวัฒนธรรมชุมชนที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ให้มีความเด่นชัดมากขึ้น



วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ควรดำเนินการในเรื่องทุนวัฒนธรรมของชุมชนในเขตจังหวัดมุกดาหาร อย่างต่อเนื่องในหลายๆประเภท โดยผ่านกระบวนการ "จัดการความรู้" โดยส่งเสริมให้บุคลากรของวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งในรูปแบบของการจัดการโครงการ แล้วนำสู่การบูรณาการสู่การจัดการเรียนการสอนอในทุกหลักสูตร ไม่ว่า จะเป็นหลักสูตรอนุปริญญา หลักสูตรฝึกอบรม และการบริการวิชาการ ด้วยวิธีการวิจัยเป็นหลัก เพื่อทำหน้าที่สถาบันการศึกษาเพื่อการบริการชุมชนอย่างหลากหลายรูปแบบ บนพื้นฐานของปัญหาและความต้องการของชุมชน ให้สมกับวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร คือ "แหล่งวิชาการเพื่อชุมชน"อย่างแท้จริง